วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ไดโนเสาร์สายพันธ์ุมีปีก

ในยุคแห่งไดโนเสาร์ที่ยาวนานนับร้อยล้านปี ณ.ช่วงเวลาที่เหล่าไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์ครอบครองทั่วผืนแผ่นดิน และสัตว์เลื้อยคลานอสูรสมุทรนานาชนิดปกครองผืนน้ำ บนท้องฟ้าของโลกยุคนั้น คือ อาณาจักรของสัตว์บินได้ที่น่าเกรงขามซึ่งครอบครองท้องฟ้ามาก่อนหน้าที่นกตัวแรกจะปรากฏขึ้น เทโรซอร์จัดเป็นพวกสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ซึ่งอยู่ร่วมยุคเดียวกันกับไดโนเสาร์และมีคนจำนวนมากที่มักจะเข้าใจผิด โดยเรียกพวกมันว่าไดโนเสาร์บิน แต่ในความจริงนั้น เทโรซอร์เป็นพวกสัตว์เลื้อยคลานบินได้ซึ่งถือเป็นคนละกลุ่มกับไดโนเสาร์
พวกเทโรซอร์มีปีกซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นหนังบางๆที่ยึดอยู่ระหว่างนิ้วทั้งสี่ที่ยืดยาวออกมา ซึ่งปีกลักษณะนี้เหมาะแก่การร่อนมากกว่าจะกระพือบินเหมือนอย่างนก นักวิทยาศาสตร์คิดว่า เทโรซอร์น่าจะลอยตัวอยู่บนท้องฟ้าได้โดยอาศัยอากาศร้อนช่วยพยุงปีกและลำตัว การที่พวกมันมีกระดูกกลวงและเบาทำให้ร่างกายของเทโรซอร์มีสภาพคล้ายกับเครื่องร่อน ทั้งนี้เทโรซอร์บางชนิดอาจจะมีขนบางๆ ปกคลุมร่างกายคล้ายกับค้างคาวด้วย
เควตซัลโคแอทลัตท์
เทโรซอร์สามารถจำแนกได้เป็นสองกลุ่ม คือ แรมโฟรินคอยด์ (Rhamphorhynchoids) และ เทอโรแดคทิลลอยด์ (Pterodactyloids) กลุ่มแรมโฟรินคอยด์ เป็นเทโรซอร์จำพวกแรกที่ปรากฏตัวขึ้นบนโลก พวกมันเริ่มปรากฏขึ้นมาตั้งแต่กลางยุคไทรแอสสิค ลักษณะร่วมของเทโรซอร์ในกลุ่มนี้คือ มีหางยาวและปีกแคบ พวกแรมโฟรินคอยด์มีขนาดตัวไม่ใหญ่นักขนาดโดยทั่วไปไม่โตไปกว่านกอินทรีตัวใหญ่ๆสักเท่าไร เทโรซอร์ในกลุ่มนี้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ แรมโฟรินคัสที่มีจงอยปากเรียวแหลม กับ ดิมอร์โฟดอนที่มีจงอยปากใหญ่และฟันแหลมคมเรียงเป็นแนว
แรมโฟรินคัส
ดิมอร์โฟดอน
สำหรับเทโรซอร์ในกลุ่มเทอโรแดคทิลลอยด์นั้น มีวิวัฒนาการขึ้นมาในยุคจูราสสิค โดยพวกนี้จะมีลักษณะเด่นตรงหางสั้นและปีกกว้างซึ่งช่วยให้ควบคุมการบินร่อนได้ดีกว่าพวกแรมโฟรินคอยด์ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ยุคครีตาเชียส พวกเทอโรแดคทิลลอยด์ก็ได้เข้าแทนที่พวกแรมโฟรินคอยด์และได้กระจายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นเจ้าเวหาในยุคนี้ พวกเทอโรแดคทิลลอยด์มีชนิดพันธุ์ที่หลากหลายและขนาดที่แตกต่างกันไป โดยชนิดที่เล็กที่สุดอย่าง เทอโรแดคทิลลัส มีขนาดไม่โตไปกว่านกกระจอก ขณะที่พวกตัวใหญ่อย่าง ออนิโธไครัสและเทอราโนดอนนั้นจะมีขนาดพอๆกับเครื่องร่อน หรืออย่างเควตซัลโคแอทลัตท์ซึ่งจัดเป็นเทโรซอร์ที่ใหญ่ที่สุดนั้นอาจจะมีขนาดใหญ่เท่ากับเครื่องบินเล็กเลยทีเดียว
เทอโรแดคทิลลัส
ออนิโธไครัส
นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า เทโรซอร์หลายชนิดอาจจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยอาหารหลักของสัตว์พวกนี้ก็คือปลาและแมลง ในขณะที่เทโรซอร์ขนาดใหญ่บางชนิดก็อาจจะล่าสัตว์ตัวเล็กๆ หรือกินซากที่พวกไดโนเสาร์นักล่าเหลือทิ้งไว้ เป็นอาหาร เช่นเดียวกับพฤติกรรมของนกแร้งในยุคปัจจุบัน
ฝูงเทอราโนดอน
ฝูงเควตซัลโคแอทลัตท์
นับแต่ปลายยุคจูราสสิคเป็นต้นมา เทโรซอร์หลายชนิดได้มีวิวัฒนาการจนมีลักษณะแปลกประหลาด อย่างเช่น พเทโรดัสโทรที่มีจงอยปากยาวโค้งคล้ายกับนกช้อนหอย หรืออย่าง ทาพีจารอ ที่มีหงอนขนาดใหญ่อยู่บนหัว โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า หงอนของทาพีจารอ อาจมีประโยชน์ในการดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้ามแบบเดียวกับนกเงือกในปัจจุบัน
พเทโรดัสโทร
ทาพีจารอ
เทโรซอร์ครอบครองท้องฟ้าของโลกดึกดำบรรพ์โดยไร้ผู้เทียบเทียม จนกระทั่งมาถึงช่วงยุคจูราสสิคที่มีนก ชนิดแรกปรากฏขึ้นและได้กลายเป็นคู่แข่งของพวกมัน กระนั้นพวกนกก็ยังไม่อาจเอาชนะเหล่าเทโรซอร์ได้และพวกมันก็ยังคงครองความเป็นจ้าวเวหาเรื่อยมาจนถึงปลายยุคครีตาเชียส กระทั่งเมื่อเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เทโรซอร์ทั้งหลายก็ได้สูญพันธุ์ไปพร้อมกับไดโนเสาร์ และทิ้งท้องฟ้าไว้ให้เหล่านกครอบครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น